จันทร์. เม.ย. 29th, 2024

โฟกัสนิวส์ทูเดย์

เจาะประเด็น ข่าวดัง ทั่วไทย

หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากับงาน TICA Connect ครั้งที่ ​8

1 min read

หุ้นส่วนเพื่อการพัฒนากับงาน TICA Connect ครั้งที่ ​8

 

​กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ (Thailand International Cooperation Agency: TICA) จัดงาน TICA Connect ครั้งที่ 8 ในหัวข้อ Enhancing International Cooperation for Sustainable Future” (การขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน) เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2566 ณ วิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ โดยมีนายศรัณย์ เจริญสุวรรณ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดยได้ย้ำว่า ในการขับเคลื่อนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศนั้น การมีส่วนร่วมจากนานาประเทศ และทุกภาคส่วนเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (2030 Agenda for Sustainable Development) ทั้งนี้ ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวร่วมกัน โดยการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (Sufficiency Economy Philosophy) และ BCG Model ในการดำเนินงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา


​สำหรับวัตถุประสงค์ของการจัดงาน TICA Connect ครั้งนี้นั้น นางอุรีรัชต์ เจริญโต อธิบดีกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ได้เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์หลักในการจัดงานครั้งนี้ เพื่อเผยแพร่การดำเนินงานด้านการพัฒนาของไทยในต่างประเทศ ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นตัวอย่างที่ดีในการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน รวมทั้งเน้นบทบาทของหน่วยงานด้านการพัฒนาทั้งไทยและต่างประเทศที่เป็นคู่ร่วมมือกับ TICA ตลอดจนเป็นเวทีสร้างเครือข่ายระหว่างกันเพื่อประโยชน์ในการร่วมกันดำเนินงานในอนาคต นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดนิทรรศการของกรมความร่วมมือฯ ซึ่งนำโครงการใน สปป. ลาว กัมพูชา และภูฏานมาจัดแสดง และคู่ร่วมมือต่าง ๆ

เช่น โครงการหลวง กรมพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ฟาร์มทะเลตัวอย่าง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งนำผลิตภัณฑ์จากผู้พิการมาจัดแสดงและจำหน่าย ตลอดจนหน่วยงานด้านการพัฒนาต่างประเทศ เช่น USAID และ Peace Corps ของสหรัฐฯ JICA ของญี่ปุ่น KOICA ของเกาหลีใต้ GIZ จากเยอรมนี AFD ของฝรั่งเศส และ Mekong Institute (MI) และหน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งเป็นการเผยแพร่การให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาทั้งของไทยและที่กรมฯ ดำเนินการกับหุ้นส่วนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยกิจกรรมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 500 คน จากคณะทูตานุทูต ผู้แทนองค์การระหว่างประเทศประจำประเทศไทย นักเรียน นิสิต นักศึกษาทั้งไทยและต่างชาติ รวมถึงผู้รับทุนกรมความร่วมมือฯ และสื่อต่าง ๆ


​ภายในงาน ยังมีการบรรยายโดย ดร. สุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูตและผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เข้าร่วมงานในครั้งนี้และได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ “Linking Forward to Leave No One Behind” โดยได้เน้นย้ำประชาคมโลกควรร่วมมือกันแก้ไขประเด็นท้าทาย อาทิ ผลกระทบของโรคโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ พร้อมทั้งได้เสนอแนวทางการดำเนินการที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ (1) การแก้ปัญหาเร่งด่วน เช่น ความมั่นคงทางอาหารและสุขภาพเพื่อเสริมสร้างรากฐานในการยุติความยากจน (2) การแก้ปัญหาระบบการเงินโลก รวมถึงการปฏิรูปสถาบันการเงินระหว่างประเทศ และ (3) การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและเสริมสร้างศักยภาพให้กับกลุ่มเปราะบาง โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ


​กรมความร่วมมือฯ ได้จัดให้มีการเสวนา ๒ รายการ รายการแรกเป็นการเสวนาในหัวข้อ “Enhancing International Development Cooperation for Sustainable Future: Working Together to Promote SDG 13 and SDG 17” โดยผู้แทนจาก TICA และคู่ร่วมมือต่าง ๆ ได้แก่ AFD, GIZ, JICA, KOICA, USAID และสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับแนวทางความร่วมมือเพื่อการพัฒนาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในไทยและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และการเสวนารายการที่สองในหัวข้อ “เปิดประสบการณ์นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปเผยแพร่ไปประยุกต์ใช้ในต่างประเทศผ่านโครงการความร่วมมือเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยวิทยากรที่เป็นผู้ดำเนินโครงการในต่างประเทศ เช่น ภูฏาน กัมพูชา และ สปป.ลาว มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความสำเร็จและความท้าทายในการดำเนินงาน ซึ่งในโอกาสเดียวกันนี้ กรมความร่วมมือฯ ได้เปิดตัวคู่มือการประยุกต์ใช้ SEP ในต่างประเทศ ในเว็ปไซต์ของกรมความร่วมมือฯ ด้วย ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ


​นอกจากนี้ กรมความร่วมมือฯ ได้มอบเข็มเกียรติคุณและประกาศนียบัตรแก่บริษัทบางจาก รีเทล จำกัด สำหรับความร่วมมือในการต่อยอดโครงการพัฒนาเมล็ดกาแฟที่ปลูกโดยสมาชิกของสหกรณ์การเกษตรดอยสะเก็ดพัฒนา ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง TICA และ JICA จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ “กาแฟดริปเทพเสด็จ” ที่มีจำหน่ายที่ร้านกาแฟอินทนิน ซึ่งทำให้ชาวเกษตรกรกาแฟดอยสะเก็ดมีรายได้มากขึ้น “กรมความร่วมมือฯ ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในครั้งนี้ และหวังว่าจะสามารถนำรูปแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อประชาชน (Public Private Partnership for People : PPPP) ไปประยุกต์กับโครงการอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต” อธิบดีกรมความร่วมมือฯ กล่าว

You may have missed

Copyright © All rights reserved. | Newsphere by AF themes.
Share